การเต้นบัลเล่ต์ (Ballet Dance)
เป็นการเต้นรำเพื่อความบันเทิง เฟื่องฟูช่วงปลายศตวรรษที่ 15-16 ในรูปแบบต่างๆไม่ว่าการแสดงโลดโผน ละครใบ้ บทสนทนา และบทเพลงผสมผสานกัน มีจุดประสงค์รับใช้ราชสำนักเป็นหลัก ประชาชนเป็นรองสำหรับบัลเล่ต์เป็นศิลปะการเต้นรำที่พระนางแคทเธอรีน แห่งเมดีซี (Catherine de Medici) นำไปพัฒนาที่ฝรั่งเศส เมื่อพระนางอภิเษกกับกษัตริย์อองรีที่ 2 ในตอนนั้นการแสดงบัลเล่ต์ใช้เวลานานกว่า 5 ชั่วโมง การเเสดงบัลเล่ต์ทำให้สตรีในราชสำนักมีโอกาสร่วมเต้นรำ หลังจากที่เคยจำกัดอยู่ในวงของบุรุษ แต่บทนางเอกของเรื่องก็ยังกำหนดให้ผู้ชายแสดงอยู่ดี ส่วนผู้หญิงได้เล่นแต่บทเล็กๆ
นอกจากนั้นผู้หญิงยังถูกจำกัดท่าทางการเต้นด้วยเครื่องแต่งกายที่ฟูยาว ขณะที่ผู้ชายแต่งตัวด้วยชุดรัดรูป ทำให้มีอิสระในการเคลื่อนไหวของขามากกว่า ไม่ว่าการหมุน การซอยเท้า การกระโดดซับซ้อนขึ้น รวมทั้งการยืนบนปลายเท้า ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการเต้นบัลเล่ต์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นผู้มีอิทธิพลมากในการทำให้การเต้นรำในราชสำนักกลายเป็นการเต้นรำเพื่ออาชีพ พระองค์ร่วมแสดงละครบัลเล่ต์เรื่อง “La nuit” ทั้งระดมผู้คนทั้งในราชสำนัก นักการเมือง และผู้มีพรสวรรค์ทุ่มเทพัฒนาการแสดงเต้นรำ ค.ศ.1661 ทรงก่อตั้งสถาบันการเต้นรำอาชีพและสถาบันการดนตรีแห่งราชสำนัก และในปี 1671 จึงมีโรงเรียนสอนเต้นรำ ที่กรุงปารีส ซึ่งเปิดกว้างสู่สามัญชน
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17-18 มีการก่อตั้งมูลนิธิของบัลเล่ต์ เพื่อพัฒนาการเต้นให้ดียิ่งขึ้น เช่น การใช้เท้าที่ซับซ้อนและเป็นธรรมชาติมากขึ้น ขณะที่นักเต้นบัลเล่ต์หญิงเริ่มมีบทบาทเด่นมากขึ้น
ในปี 1681 นักเต้นหญิงมีโอกาสขึ้นเวที โดย Marie de Carmargo เป็นหนึ่งในนักเต้นบัลเล่ต์หญิงที่มีชื่อเสียงด้านระบำปลายเท้าที่ว่องไวและซับซ้อน เธอยังเป็นผู้ที่ตัดกระโปรงบัลเล่ต์ให้สั้นลง 2-3 นิ้ว เพื่อให้เต้นสะดวกขึ้น การปฏิวัติของมารีไม่ได้รับการยอมรับนัก กระทั่ง 50 ปีผ่านไป
ในปีค.ศ.1760 ผู้เชี่ยวชาญบัลเล่ต์เริ่มตั้งคำถามถึงข้อจำกัดซึ่งยึดหลักศิลปะ และข้อจำกัดที่ไม่จำเป็น ปรมาจารย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการคือ ฌอง จอร์จ โนแวร์ ผู้เสนอแนวคิดการพัฒนาบัลเล่ต์ให้เป็นแบบฉบับศิลปะที่เป็นจริงเป็นจัง เพราะเห็นว่าบัลเล่ต์ควรเป็นวิธีที่ใช้แสดงความคิดทางละครผ่านทางการผสมผสานที่สมบูรณ์แบบของการเต้นรำ ละคร และตัวละคร เขาแลกเปลี่ยนความคิดของเขากับนักเรียน นักเต้นรำ และผู้ออกแบบท่าเต้นในเวลานั้น แต่มีอยู่เพียงท่านเดียวที่นำแนวความคิดของโนแวร์ไปปฏิบัติคือ โดแบร์วาล ผู้ออกแบบท่าเต้นทิ่ยิ่งใหญ่ เขาออกแบบท่าเต้นรำและสร้างตัวละครสามัญชนในละครเรื่อง La Fille Mal Garde ปีค.ศ.1789
ปัจจุบันบัลเล่ต์มีผู้ชมจำนวนกว้างขึ้น และมีหลากหลายเรื่องที่เล่น ได้แก่ Swan Lake (หงส์เหิน) Sleeping Beauty (เจ้าหญิงนิทรา) The Nutcracker , Carmen ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เพลงคลาสสิคของไชคอสสกีในการบรรเลง
การเรียนบัลเล่ต์ นอกจากจะช่วยพัฒนาบุคลิกของเด็กแล้ว ยังสามารถช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของลักษณะการเดินให้มีท่าทีที่สง่างามได้อีกด้วย เด็กที่ได้รับการฝึกฝนอย่างเป็นประจำจะเป็นเด็กที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ร่าเริงแจ่มใส เป็นการเสริมสร้างความมั่นใจและความกล้าแสดงออกให้กับเด็ก ตั้งแต่วัยเยาว์ อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังให้เด็กรักในเสียงดนตรีและการเคลื่อนไหวประกอบจังหวะ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการพัฒนาไปสู่การเต้นในรูปแบบอื่นๆต่อไป...
ประโยชน์ของการเรียนบัลเล่ต์ Ballet
- ทำให้ผู้เรียนมีพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
- ทำให้ผู้เรียนมีสรีระและบุคลิกภาพที่ดี เช่น เวลายืน เพราะการยืนแบบบัลเล่ต์จะต้องยืนหลังตรงหน้าเชิดตลอด
- ฝึกให้มีความรับผิดชอบและมีระเบียบวินัย
- ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านดนตรี ช่วยให้ผู้เรียนได้รู้จักเพลงคลาสสิค
- เป็นการปูพื้นฐานการเต้นทุกชนิด หากเริ่มเต้นบัลเล่ต์ไปได้สักระยะหนึ่งแล้วผู้เรียนสามารถที่จะเรียนการเต้นรำชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นสเก็ตน้ำแข็ง การเต้นลีลาศ ยิมนาสติกลีลา ระบำใต้น้ำ แจ๊ส ระบำสเปน หรือแม้กระทั่งฮิบฮอป ได้ง่ายขึ้นมากกว่าคนที่ไม่มีพื้นฐานบัลเล่ต์มาก่อน
- ปลูกฝังรสนิยมที่ดีให้กับเด็ก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น